Rolex GMT Master II รีวิว

หน้าแรก Rolex โรเล็กซ์ Rolex GMT Master II รีวิว

อยากจะทำรีวิวนาฬิกาโรเล็กซ์ (Rolex) มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเพจแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความหลงใหล ความคลาสสิค หรือว่าเป็นชื่อแรกที่ผู้คนมักจะนึกถึงเมื่อพูดถึงความนาฬิการะดับสูง แต่ทว่าการที่เราจะเลือกรีวิวนาฬิกา Rolex นั้นมีข้อจำกัด ถ้าเราไม่นำนาฬิกาจากคอลเล็กชั่นส่วนตัวมารีวิว การเดินเข้าไปในร้านของตัวแทนจำหน่ายในไทยแล้วขอถ่ายรูปนาฬิกานั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากสำหรับ blog นาฬิกาแบบออนไลน์แบบเรา โปรเจคที่ LWT อยากจะทำรีวิว Rolex จึงได้ถูกเก็บเข้าลิ้นชักแห่งความฝันเพื่อรอเวลาอยู่นานทีเดียว

ในปี 2559 ทีมงานของเราที่เยอรมนีได้ติดต่อตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนีคือ WEMPE ซึ่งทางสาขาของเมือง Hannover นั้นยินดีที่จะสนับสนุนนาฬิกามาให้เรารีวิว แม้ว่ากลุ่มผู้อ่านของเราส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เป็นลูกค้าหรือรู้จักร้านของเขาด้วยซ้ำ นี่ทำให้โปรเจคการรีวิวนาฬิกา Rolex จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ทาง LWT จึงอยากขอขอบพระคุณคุณ Stephan Frank (ผู้บริหารสาขา) สำหรับความเชื่อใจและโอกาสที่มอบมาในครั้งนี้ครับ

สำหรับบทความนี้ LWT ได้เลือกนาฬิกาเป็นตระกูลที่เกี่ยวกับการบินพานิชย์ และหนึ่งในนาฬิการุ่นยอดนิยมตลอดกาลของแบรนด์คือ “GMT Master II (Ref. 116719BLRO)” หรือที่เราเรียกกันเล่น ๆ ว่า “เป๊ปซี่” (Pepsi) จากการที่ขอบหน้าปัด (Bezel) ที่แสดงเวลา 24 ชั่วโมงที่แบ่งเป็นสองสีคือ สีน้ำเงินและสีแดง ซึ่งดูเหมือนสีของยี่ห้อน้ำอัดลมเป๊ปซี่นั่นเอง

rolex_gmt_master_II

การบินข้ามเขตแดน และ จุดกำเนิดของเขตเวลา

ระยะทางเหนือมหาสมุทรเป็นอะไรที่ท้าทายความสามารถของมนุษย์ในการพิชิตมาตลอด ตั้งแต่ยุคที่อาศัยแรงลมในการแล่นเรือจนกระทั่งถึงยุคของการใช้แรงยกดันปีกเทียมหรือ “เครื่องบิน” ขึ้นสู่ท้องฟ้า ระยะทางและเวลาในการเดินทางยังคงเป็นอุปสรรค ในสมัยต้นศตวรรษที่ 20 สายการบินที่บินระหว่างทวีปจะยังคงใช้เครื่องบินน้ำบินแวะพักเติมเชื้อเพลิงตามสถานีของสายการบินที่ตั้งอยู่ตามเกาะต่าง ๆ แต่เมื่ออุตสาหกรรมการบินได้พัฒนาเครื่องยนต์ที่ให้แรงม้ามากขึ้น ออกแบบให้ตามอากาศพลศาสตร์มากขึ้น การเดินทางจึงสะดวกและเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

[1] Boing, Type 377, Stratocruiser ของสายการบิน Pan Am

หนึ่งในสายการบินที่โด่งดังและเป็นที่ที่เหมือนแหล่งรวมความฝันของไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ในการเดินทางคือ Pan America World Airways หรือย่อว่า “Pan Am” (แพนแอม) โลกของการแข่งขันนั้นสูงมาก แพนแอมจึงมองหาลู่ทางในการเปิดเที่ยวบินไปยังจุดหมายต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเส้นทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกที่ลูกค้าส่วนใหญ่ใช้ในการเดินทาง

และเนื่องจากโลกของเรานั้นแบ่งเป็นหลายเขตเวลา (Timezone) รวม 24 เขต เกิดความยุ่งยากทันทีในการดูเวลาโดยเฉพาะเที่ยวบินที่ใช้เวลามากแบบนี้ ในปี ค.ศ. 1954 ทางแพนแอมจึงส่งโจทย์ไปยัง Rolex ว่าให้ช่วยสร้างนาฬิกาที่สามารถบอกเวลาได้หลายเขตเวลาที่อิงกับเวลามาตรฐาน GMT หรือ UTC หรือสำหรับนักเดินทางอย่างเรา ๆ สามารถดูเวลาที่จุดหมายและของที่บ้านได้พร้อมกันอย่างรวดเร็วทันทีที่ยกข้อมือมามอง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของตำนาน Rolex อีกฉบับในไลน์ “GMT Master“

GMT Master (ซ้าย) และ GMT Master II (ขวา) ©Rolex/Jean-Daniel Meyer
[2] GMT Master (ซ้าย) และ GMT Master II (ขวา) ©Rolex/Jean-Daniel Meyer

GMT และ UTC

GMT หรือ Greenwich Mean Time (เวลามาตรฐานกรีนิช) และ UTC หรือ Universal Time Coordinated (เวลาสากลเชิงพิกัด) คือระบบเวลามาตรฐานที่ใช้เทียบหาเขตเวลา ซึ่งปัจจุบันคนส่วนใหญ่ได้นำมาใช้สลับกันโดยไม่เข้าใจถึงความแตกต่างกันซักเท่าไรนัก

[3] รูปลูกโลกที่แบ่งเวลาทุก ๆ 15ºC เป็น 24 เขตเวลา

ย้อนกลับไปในยุคของการเดินเรือการเทียบเขตเวลาของแต่ละประเทศ จะใช้เส้นแวงหรือเส้นเมอริเดียนที่เป็นเส้นสมมติที่ลากจากเหนือถึงใต้ ซึ่งจะกำหนดพิกัดเป็นองศาที่เรียกว่า “ลองจิจูด” (Longitude) โดยเส้นเมอริเดียนนี้จะแบ่งโลกออกเป็น 24 เขตหรือ 24 ชั่วโมง แต่ละเส้นจะห่างกัน 15 องศา (24 x 15 ก็จะได้ 360 องศาครบตามทรงวงกลมของโลก) ซึ่งในปี ค.ศ. 1884 มีการกำหนดให้เส้นเวลากรีนนิช (Greenwich) เป็นเส้นเวลา เมอริเดียนแรก หรือ “ไพร์มเมอริเดียน” (Prime Meridian) และเป็นลองจิจูด 0 องศา เป็นที่มาของคำว่า Greenwich Mean Time หรือ GMT

ด้วยการที่ GMT ไม่ได้มีการคำนวณเรื่องความคลาดเคลื่อนของวงโคจรระหว่างพระอาทิตย์กับโลก แต่เป็นการเปรียบเทียบโดยเฉลี่ยวันของเมืองกรีนนิช (เช่น เที่ยงวันตาม GMT คือการเฉลี่ยเวลาเที่ยงของเมืองกรีนิชตลอดทั้งปี) ดังนั้นการเกิดขึ้นของนาฬิกาอะตอมในปี ค.ศ. 1955 ทำให้มนุษย์สามารถวัดเวลาที่แม่นยำสูงจึงทำให้เวลามาตรฐาน GMT กับเวลาจากนาฬิกาอะตอมไม่ตรงกัน (แม่นยำถึงขนาดต้องทำให้มีการปรับนาฬิกาอะตอมด้วย leap seconds เข้าไปอย่างสม่ำเสมอเพื่อชดเชยความคลาดเคลื่อนของวงโคจรระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์) และในปี ค.ศ. 1960 อเมริกาและอังกฤษได้เริ่มมีการเทียบเวลาจากสัญญาณวิทยุจากนาฬิกาอะตอมที่ทำให้เกิด Universal Time Cooridinated หรือ UTC และด้วยเหตุผลนี้การกล่าวถึง GMT ในปัจจุบันจึงหมายถึง UTC ที่เทียบเวลาจาก “นาฬิกาอะตอม” ไม่ใช่เวลาจากเมืองกรีนิช

Rolex GMT Master II “Pepsi”

Cerachrom Bezel ของ GMT Master II
Cerachrom Bezel ของ GMT Master II

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้นั้นประทับใจนาฬิกา Rolex เสมอมาคือการเลือกใช้วัสดุคุณภาพ แม้ไม่หวือหวาเหมือนนาฬิกายี่ห้ออื่นแต่คุณภาพในการผลิตนั้นสะท้อนถึงความเอาใจใส่และการทำการบ้านอย่างหนักของ Rolex ซึ่งนอกจากตัวเรือนที่เป็นไวท์โกลด์รุ่น Ref. 116719BLRO ตัวขอบหน้าปัดเซรามิก Cerachrom สองสีนั้นเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของบริษัทที่ผมคิดว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ผลิตต้องทำการวิจัยแลเข้าใจในศาสตร์ของวัสดุอย่างลึกซึ้ง รวมถึงทำการทดสอบที่มากมายกว่าจะสามารถทำเซรามิกสองสีโดยไม่ใช่สองชิ้นมาประกบกันได้แบบนี้

สีน้ำเงินของขอบหน้าปัดนั้นถ้าเรานำลองมาเทียบกับรุ่นขอบ ดำ-น้ำเงิน หรือ black – blueที่เรารู้จักกัน จะสังเกตได้ว่าสีน้ำเงินบนขอบของรุ่น Pepsi นั้นไม่ใช่น้ำเงินเดียวกับบน black-blue แต่จะเป็นสีที่อ่อนกว่าอย่างเด่นชัด ที่เป็นเช่นนี้เพราะส่วนผสมของเซรามิกที่แตกต่างกันจึงไม่สามารถทำให้สีนั้นเท่ากันได้อย่างแม่นยำ แต่ต้องยอมรับว่าขอบ Pepsi นั้นก็ทำให้เราแยกกลางวันและกลางคืนได้สะดวกมากขึ้นในที่ที่มีแสงน้อย (ไม่ใช่ว่าขอบหน้าปัดเรืองแสง แต่เพราะว่าการเล่นสีตัดกันอย่างสีแดงกับสีน้ำเงิน)

rgmt_2

rgmt_8

ส่วนประกอบของหน้าปัดนั้นจะประกอบไปด้วยเข็มวินาที นาที และชั่วโมง ตามนาฬิกาทั่วไป แต่ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นคือเข็ม GMT และขอบหน้าปัดหรือ bezel ที่หมุนได้ 2 ทิศ ซึ่งจะหมุนได้ step ละ 1 ชั่วโมง (อิงกับ 24 ชั่วโมงบนขอบหน้าปัด) ซึ่งผมได้ทำรูปออกมาให้ชมด้านล่าง สำหรับความชาญฉลาดของนาฬิกา GMT นั้นคือสามารถทำให้ผู้ใช้หรือนักบินในสมัยก่อนสามารถดูเวลาได้มากกว่าหนึ่งเขตเวลา ซึ่งตรงนี้ ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงจะถามว่าดูได้กี่เขตเวลากัน?

ดังที่กล่าวมาในข้างต้นว่า GMT หรือ UTC นั้นเป็นเวลามาตรฐาน และเวลาในประเทศต่างๆจะเป็นเวลาที่อ้างอิงจากเวลามาตรฐาน ดังนั้นธรรมนักบินจะปรับเข็ม GMT และขอบหน้าปัดให้แสดงเวลา GMT อยู่เสมอเพื่อที่จะได้รู้ว่าเวลามาตรฐานคือเท่าไร (ไม่ใช่ตั้งเข็ม GMT ไปเป็นเขตเวลาที่ต้องการโดยสามเหลี่ยมของขอบหน้าปัดอยู่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา) และเมื่อต้องการที่จะให้ขอบหน้าปัดแสดงเขตเวลาที่ต้องการ นักบินจะต้องหมุนขอบหน้าปัดไปเขตเวลาที่ต้องการเพื่อแสดงเวลาของสถานที่ที่ต้องการซึ่งอ้างอิงกับเวลามาตรฐาน UTC

UTC (เข็ม GMT) และ UTC +7 (เข็มธรรมดา)
A. เข็มแดง UTC (00:15) และเข็มธรรมดา UTC +7 (07:15)
UTC +9 (เข็ม GMT) และ UTC +7 (เข็มธรรมดา)
B. เข็มแดง UTC +9 (09:15) และเข็มธรรมดา UTC +7 (07:15)
UTC (00:15) และ UTC+9 (09:15)
C. เข็มแดง UTC (00:15) และเข็มธรรมดา UTC+9 (09:15)
เข็มแดง UTC+7 (07:15) และเข็มธรรมดา UTC+9 (09:15)
D. เข็มแดง UTC+7 (07:15) และเข็มธรรมดา UTC+9 (09:15)
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นผมจึงได้ทำรูปหน้าปัดของ GMT Master II ขึ้นมา 4 รูปที่แสดงเวลาแตกต่างกันเป็น A. B. C. และ D. โดยสิ่งที่คุณต้องทำคือ จินตนาการว่าตัวคุณเป็นนักบินที่ตอนนี้อยู่ประเทศไทยและตั้งเวลาท้องถิ่นเป็น UTC+7 ซึ่งเป็นเวลา 07:15 น. และตั้งเข็มแดงไว้ที่ 00:15 น. เพื่อแสดงเวลามาตรฐาน UTC (รูป A.) เมื่อนักบินจะต้องบินไปที่ญี่ปุ่นซึ่งตรงกับเขตเวลา UTC +9 ก่อนบินนักบินก็บิดขอบหน้าปัดทวนเข็มนาฬิกาไป 9 สเต็ปจะได้เวลา UTC+9 ที่เท่ากับ 09:15 น. (รูป B.) นักบินจะสามารถอ่านเวลาที่ไทยและที่ญี่ปุ่นได้พร้อมกัน เมื่อนักบินมาถึงที่ญี่ปุ่นและอาจจะต้องใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็จะปรับเข็มสั้นเข็มยาวให้เป็นเวลาท้องถิ่นที่ญี่ปุ่น และปรับขอบหน้าปัดกลับไปแสดงเวลามาตรฐานเหมือนเดิม (รูป C.) สุดท้ายนักบินจะต้องบินกลับมาประเทศไทย ก็ปรับเวลาจุดหมายเป็นประเทศไทยโดยปรับขอบหน้าปัดโดยหมุนทวนเข็มนาฬิกาไป 6 สเต็ป จะได้เวลา UTC+7 ที่เท่ากับ 07:15 น. (รูป D.)

ด้วยเหตุนี้ผมจึงสามารถสรุปได้ว่าผู้ใช้สามารถอ่านเวลาจากนาฬิกา GMT Master II ได้พร้อมกัน “สองเขตเวลา” เท่านั้น แต่เวลาบนขอบหน้าปัดจะอิงกับเวลามาตรฐาน GMT หรือ UTC ทำให้การใช้งานนั้นเกี่ยวข้องกับ “สามเขตเวลา” เพราะเวลาบนขอบหน้าปัดจะต้องเป็นเวลาที่อ้างอิงจากเวลามาตรฐานเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในเมื่อเรามีมือถือที่แสดงเวลาที่เทียบกับอินเตอร์เน็ตอย่างแม่นยำ ผู้ใช้อาจจะปรับเข็ม GMT ไปเป็นเขตเวลาที่ตัวเองต้องการได้เลยโดยไม่ต้องอิงกับเวลามาตรฐานจะสะดวกกับการใช้งานมากขึ้น (แต่การใช้ที่ถูกต้องต้องให้เข็ม GMT อิงจากเวลามาตรฐานเท่านั้น)

rgmt_4

rgmt_6

น้ำหนักของตัวเรือนและสายที่เป็นไวท์โกลด์ทำให้นาฬิกาเรือนนี้นั้นมีน้ำหนักมาก ใส่ในช่วงแรกอาจจะไม่ชินสำหรับผู้ที่ใส่นาฬิกาที่ทำด้วยเหล็กกล้าไร้สนิม (stainless steel) หรือวัสดุน้ำหนักเบาอื่นๆ นอกจากการปรับขนาดของสายที่ต้องขันสกรูและนำข้อสายนาฬิกาออกไป ก็สามารถปรับระยะที่ตัวล็อคสายได้ (Folding Oysterlock safety clasp ) และสำหรับนาฬิกาที่เป็นโลหะจะมีการยืดหดตัวสำหรับต่างประเทศในฤดูหนาวสายนาฬิกาจะหดตัวอาจจะทำให้ใส่แล้วแน่นดังนั้นจึงมี Easylink บนตัวล็อคสายที่จะสามารถขยายได้ด้วยการดึงข้อสายได้อีก 5 มิลลิเมตร

เรื่องคุณภาพต้องยอมรับว่านาฬิกา Rolex สามารถทำได้ดีเยี่ยม รวมถึงชื่อเสียงของแบรนด์ที่สะสมมาอย่างดีจากในอดีต และด้วยตัวเรือนจากไวท์โกลด์ทำให้นาฬิกาเรือนนี้เป็นตัวที่ราคาสูงที่สุดในรุ่น GMT Master II ซึ่งในช่วงราคาขนาดนี้มีตัวเลือกอื่นของแบรนด์ระดับที่สูงกว่า แน่นอนว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้การตัดสินใจซื้อนาฬิกาเรือนนี้เป็นสิ่งที่ “ทำใจยาก” สำหรับใครหลายคน แต่ถ้าเป็นคนที่ “รักจริง” และต้องการไต่ระดับความสัมพันธ์กับ Rolex ขึ้นไปอีกขั้น นาฬิกา GMT Master II Ref. 116719BLRO หรือ Pepsi ไวท์โกลด์เป็นเรือนหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาหรือจับมางับขึ้นข้อเป็นอย่างยิ่ง

อ้างอิง

  1. Fratello.Fasten Your Seatbelt – Rolex GMT-Master History
  2. Heaton,Jason.THE GMT WATCH EXPLAINED
  3. Giles. The Rolex GMT Master ‘Pepsi’ – A Brief History
  4. Rolex GMT Master History

เครดิตภาพ

[1] “Boeing, Type 377, Stratocruiser” โดย SDASM Archives
[3] “Image taken from page 164 of ‘A Class-Book of Physical Geography … New edition, revised and largely rewritten by R. A. Gregory‘” โดย The British Library
ขอขอบคุณ: www.lwqponline.com